วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

จะทะเลาะกันไปทำไม?? "โขนไทย - โขนเขมร"

... พาดหัวข่าวเมื่อสองวันที่ผ่านมา เกี่ยวกับโลกโซเชี่ยลฝั่งกัมพูชาที่เริ่มมีการออกมาโพสต์ลงในสื่อ "โขน" ไม่ใช่ของไทย แต่เป็นของเขมรต่างหาก เอาล่ะทีนี้พี่ไทยพอเห็นข่าวเข้าก็ต่างรุมสกรัมพ่อเขมรหนุ่มหน้าตาบ้องแบ๊วทั้งหลายกันอย่างยกใหญ่ ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ งัดหลักฐานข้อมูลมาข่มกัน จนกลายเป็น talk of the town ขึ้นมาทันที
... แต่โดยประเด็นสำคัญที่ชาวกัมพูชาหลายคนที่ออกมากล่าวเช่นนี้ก้เพราะว่า พี่ไทยเรานี่เองล่ะครับที่จะเสนอโขนให้เป็น "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" ต่อยูเนสโก้กับเค้าบ้าง หลังจากที่ทางกัมพูชาได้ยื่น ละโคนพระกรุณา (Royal Ballet of Cambodia) ที่เป็นการแสดงที่หน้าตาเหมือนกับโขนไทยราวกับฝาแฝด ขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการยื่นทับไลน์กับจากไทย (ซึ่งมีข่าวมาเรื่อยๆเลยครับทั้งรำไทย หนังใหญ่ ฯลฯ) มีหรือที่กัมพูชาเค้าจะยอม จนเป็นที่มาของการโพสต์แสดงความเห็นและการตอบโต้กันตามประเด็นดังกล่าว
... จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาผมก็ลองเข้าไปอ่านตามโลกโซเชี่ยลเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ ทั้งหลายทั้งมวลครับก็ออกมาในแนวที่ว่าใครลอกใคร กูคิดก่อน มึงคิดทีหลัง .... เมามันกันมากเลยครับ แต่จะว่ากันไปแล้วหลายๆความเห็นที่น่าเชื่อถือและผมก็เห็นว่ามันน่าจะเป็นไปได้ที่สุดแล้วนั่นคือจะทะเลาะกันไปทำไมครับ เพราะอย่างไรสุดท้ายมันก็คือวัฒนธรรมร่วมกันของอุษาคเนย์นี่แหละครับ แค่ใครจะเอาไปดัดแปลงหรือพัฒนาให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็มีรากมาจากอันเดียวกันนั่นแหละครับท่านผู้ชม

วัฒนธรรมร่วม - วัฒนธรรมลอกมาร่วมกัน
.. จะกล่าวถึงวัฒนธรรมร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันสักหน่อย อันที่จริงมีหลายอย่างมากเลยน่ะครับที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมจริงๆของกลุ่มคนที่อยู่เราได้ยินและรับทราบกันว่าแต่ละประเทศในปัจจุบันต่างแย่งกันเป็นเจ้าของ อย่างกรณีผ้าบาติกกับปาเต๊ะที่ตีกันมานานแล้วของอินโดและมาเลย์ สีย้อมกับขี้ผึ้งที่ใช้ก็เป็นวัสดุท้องถิ่นมีอยู่ในทั้งในเขตคาบสมุทรมาลายู สุมาตรา ชวา บอร์เนียว เหมือนๆกัน  หรืออย่างกรณีของตะกร้อกับเซปัค ชินลงกับตะกร้อลอดห่วง ที่ต่างคนต่างก็มีหวายมาสานเพื่อนำมาเตะเล่นเป็นเหมือนกันจนไม่รู้ว่าใครเริ่มก่อนใคร ใครลอกใคร ซึ่งจริงๆแล้วกรณีแบบนี้มันเป็นวัฒนธรรมร่วมครับ ที่มันมีมาก่อนที่จะเป็นรัฐชาติหรือก่อนที่จะมีฝรั่งหัวทองมีขีดเส้นแบ่งให้พวกเราเป็นคนนั้นเป็นคนนี้  เป็นวัฒนธรรมที่คนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เค้าสร้างสรรค์ร่วมกันมาตั้งนานมาแล้วครับ ประเด็นเหล่านี้จึงฟันธงยากครับว่าจะมาตัดสินว่าใครคิดใครทำมาก่อน 
... แต่ในหลายๆอย่างก็เป็นวัฒนธรรมต่างถิ่นที่แพร่เข้ามาจนพวกเราในหลายๆถิ่นรับเข้ามาพร้อมๆกันจนลืมนึกไปว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีชนชาติตนเองเป็นผู้ให้กำเนิด พอมีบางอย่างที่มีรายละเอียดแตกต่างกันนิดหน่อยอันเกิดจากเมื่อแต่ละคนรับเข้ามาแล้วก็มีการพัฒนาต่อให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ก็จะมีคนโวยวายตีโพยตีพายว่าแกลอกชั้นมาใช่มั๊ย จนลืมนึกไปว่าที่มันคล้ายกันก็เพราะว่ามันมาจากรากอันเดียวกันนั่นเอง เหมือนกรณีโขนละครที่เป็นข่าวล่ะครับ จริงๆแล้วถ้ามองในแง่ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ผมว่ามันก็เป็นอิทธิพลที่มาจากอินเดียนั่นแหละครับ เพราะลักษณะทางนาฏศิลป์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมดก็มีลักษณะที่คล้ายกับท่ารำของอินเดีย คือมีตั้งจีบ ตีวง แบะขา ยุบย่อเป็นพื้นฐานเหมือนๆกัน ไม่มีใครลอกใคร เหมือนประมาณว่าเรียนมาจากครูคนเดียวกัน แต่พอกลับบ้านไปดันลืมท่า พอจำได้แค่ลางๆก็เลยคิดท่ารำเองโดยเอาตัวอย่างพื้นฐานมาจากครูคนเดียวกันนั่นแหละครับ

เขมรเค้าว่ามี ทวารวดี ฟูนัน ศรีวิชัยเค้าก็มี แต่จะเถียงไปทำไมเพราะที่อินเดียเค้าก็มีจ้า




ไทยเขมรทำไมชอบตีกัน .

... จะว่ากันไปทำไมไทยเขมรจึงตีกันกันบ่อยนักเรื่องของชั้นของเธอ ทั้งทั้งๆถ้าเรามองภาพความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับลาวดูท่าว่าจะเหมือนกันมากกว่าซะอีก มีโอกาสตีกันได้มากกว่าอีก ประเด็นนี้เราต้องมองภาพวัฒนธรรมออกเป็น 2 ชั้นครับ คือวัฒนธรรมของชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง กับวัฒนธรรมชาวบ้าน พื้นบ้าน ซึ่งถ้าแยกออกมาเป็นอย่างนี้แล้วจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมของชนชั้นนำหรือวัฒนธรรมที่เป็นการรับรู้หลักของชนชาติที่เรียกว่าไทยในปัจจุบันนี้นั้น เหมือนกับเขมรเกือบทั้งหมดเลยครับ อันเป็นผลของการรับเอารูปแบบวัฒนธรรมของราชสำนักเขมรมาใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น - ตอนกลาง ดังนั้นแล้ววัฒนธรรมแกนหลักของไทยจึงมีรูปแบบเหมือนกับของเขมร (ที่รับเอามาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง) มาแบบไม่ผิดเพี้ยน จะแตกต่างกันตรงที่พัฒนาการของไทยนั้นมีความต่อเนื่องกันมายาวนาน อันเนื่องจากราชสำนักที่เป็นผู้อุปถัมภ์หลักนั้น ดำรงสืบต่อเนื่องมาไม่ขาดช่วงนั่นเอง ผิดกับเขมรครับที่มีช่วงที่ขาดหายไป ลุ่มๆดอนๆหลายช่วง จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ของไทยที่เขมรยกรูปแบบวัฒนธรรมของราชสำนักไทยไปฟื้นฟูราชสำนักของเขมรแบบไปทั้งกระบิเลยครับ ดังนั้นวัฒนธรรมที่เป็นการรับรู้หลักของประเทศไทยและกัมพูชาในปัจจุบันนั้นจึงเหมือนกัน
... แต่ในกรณีของลาวกับไทย สิ่งที่เหมือนกันนั้นเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวบ้านครับ เค้าไม่ตีกันหรอก ระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านมันไม่ได้แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นรัฐชาติที่ศูนย์กลางไงล่ะครับ ดังนั้นพอไทย-ลาว มีวัฒนธรรมชาวบ้านร่วมกันก็เป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นถ้าลาวมองตนเองอย่างเป็นมุมมองรัฐชาติน่ะครับเค้าก็จะมองว่าวัฒนธรรมหลักของเค้าคนอีสานบ้านเราเอาวัฒนธรรมเค้าไปใช้ แต่พี่ไทยที่ศูนย์กลางกลับไม่โวยวายอะไรเพราะวัฒนธรรมพื้นบ้านแถบอีสาน หรือวัฒนธรรมคนล้านนาภาคเหนือที่ไปคล้ายกับลาวหลวงพระบาง เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านเท่านั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมที่แสดงเอกลักษณ์ของชาติที่ชั้นกำหนดเอาไว้ยังไงล่ะครับ
... ดังนั้นคำว่าเอกลักษณ์ของชาติที่เป็นวัฒนธรรมหลักของแต่ละประเทศดันมาเหมือนกัน ก็เลยกลายมาเป็นประเด็นให้ตีกันอยู่ร่ำไป ไหนจะเป้นเรื่องเชิงความรู้สึกของคนเขมรกับคนไทยที่ประวัติศาสตร์แบบรัฐชาติสอนให้คนเขมรกับคนไทยเกลียดกันอีก เช่น ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอมและวัฒนธรรมของขอมโบราณที่กระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน แต่ความภาคภูมิใจเหล่านี้กลับถูกย่ำยีโดยพวกเสียมโครตเหง้าศักราชของพวกไทยปัจจุบัน ในขณะที่ภาพลักษณ์ของอาณาจักรกัมพูชาในวิชาประวัติศาสตร์ไทยสอนว่าพระยาละแวกเป็นคนโกงฉวยโอกาส หรือกัมพูชาชอบตีตนออกห่างจากสยามไปสวามิภักดิ์กับชาติอื่นทั้งๆที่ตนเองมีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม หรือ กรณีแย่งชิงดินแดนเขาพระวิหาร การเผาสถานฑูตไทย ฯลฯ เหล่านี้จึงกลายเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนง่ายต่อการกระตุ้นความรู้สึกเกลียดชังกันได้เป็นอย่างดี
... เพราะฉะนั้นเมื่อมีความขัดแย้งแบบนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่มันจะจุดง่ายครับ แล้วเราทั้งสองฝ่ายก็พร้อมลงสนามเล่นกันด้วยน่ะครับ ทั้งๆที่เรื่องความงดงามทางวัฒนธรรมเหล่านี้พวกเราควรจะยินดีร่วมกันไม่ใช่เหรอ ใครจะยื่นอะไรก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์กัน โขนไทย กับ ละโคนพระกรุณา ก็ไม่ได้เป็นการแสดงประเภทเดียวกันสักหน่อย แม้จะเหมือนกันอย่างฝาแฝดก็ตาม โขนไทยก็ยังเป็นโขนไทย รำแบบไทย ร้องแบบไทย หน้าพาทย์แบบไทย ในขณะละโคนพระกรุณาก็ร้องภาษาเขมร รำแบบเขมร ไม่รู้จะต้องเถียงกันเอาชนะเอาโล่ห์ชิงรางวัลกันไปเพื่ออะไร หรือถ้ามีเถียงแล้วชนะไปข้างนึงต่อไปห้ามใช้ชื่อว่าโขนน่ะ ให้ใช้ว่าละโคนพระกรุณาฉบับบทพากษ์ภาษาไทยหรือครับ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่เถียงกัน มันเป็นของพวกเราทุกคนต่างหาก พวกเราคำนี้มีความหมายใหญ่น่ะครับ ตอนนี้รวมร่างเข้าสู่ AEC แล้ว แม้จริงๆอาจจะไม่มีจุดประสงค์เพื่อให้สลายพรมแดนรัฐชาติก็ตาม แต่ว่าถ้าสักวันพวกเรากลายเป็นสิ่งที่อยู่ในความรับรู้ของทุกคนในเขต AEC ล่ะครับ นึกเองแล้วกัน พวกเราที่มีประชากรกว่า 400 ล้านคน พวกเราที่มีทรัพยากรมหาศาล พวกเราที่อยู่ในเขตที่สามารถเพาะปลูกเลี้ยงดูคนสัตว์ได้ตลอดทั้งปี จะไปไกลกันขนาดไหน คิดเอาแล้วกันครับ

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

5 สิ่งในจีนที่แสดงว่าวันชุนเฟินมาถึงแล้ว

.... ต่อเนื่องมาจากโพสต์ที่แล้วครับ พอดีช่วงนี้หลังกลับจากจีน - มาเก๊า เริ่มรู้สึกว่าสนใจความเป็นจีนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ก็ไม่รู้ว่าวิญญาณบรรพชนแถวๆนั้นมาเข้าสิงหรือเปล่าเพราะรู้สึกว่าช่วงนี้ความเป็นจีนแผ่ซ่านไปยังทุกอณูของร่างกายเป็นอย่างมาก ก็เลยเอาเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันชุนเฟิงหรือวันวสันตวิษรุตในประเทศจีนมาเล่าให้ทุกๆคนให้รับชมกันครับ
... ตามปฏิทินจันทรคติของจีนโบราณนั้น จริงๆแล้วใน 1 ปี สามารถแบ่งออกได้เป็น  24 ช่วงด้วยกัน (จะแบ่งเยอะไปไหนกันน่ะ) โดยนับตั้งแต่ช่วงก่อนวันตรุษจีนประมาณ 4-5 วันจะเป็นช่วงที่ 1 จากนั้นอีกทุกๆ 15 วันก็จะเปลี่ยนช่วงไป วันชุนเฟิน (春分) ก็คือวันเริ่มต้นของช่วงที่ 4 ตามปฏิทินจัทรคติของจีน จะตรงกับช่วงวันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) พอดี โดยปีนี้วันชุนเฟิงจะตรงกับวันที่ 21 มีนาคม และ ไปสิ้นสุดช่วงที่ 4 ในวันที่ 4 เมษายน 2559 โดยช่วงชุนเฟินนี้จะเป็นช่วงต่อเนื่องมาจากช่วงที่ 3 นั่นคือช่วงจิงเจ๋อ (惊蛰) หรือ เอ้อเยว่เอ้อ (二月二) หรือวันที่ 2 เดือน 2 ตามปฏิทินจีน ก็ที่เป็นช่วงสำคัญที่มีประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่งของชาวจีน ที่เรียกว่า "หลงไท่โถว" แปลว่ามังกรเชิดหัว ก็หมายถึงวันที่มังกรตื่นขึ้นมาพร้อมเริ่มต้นการทำเกษตรกรรม เป็นช่วงเริ่มต้นการเพาะปลูก ซึ่งจากนั้นก็จะมีการเพาะปลูกกันมีประเพณีพื้นถิ่นนั่นโน่นนี่กันอีกจนมาถึงวันชุนเฟิน ก็จะมีการฉลองใหญ่อีกครั้งเพราะคราวนี้ถือว่าเป็นช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิพอดี (ที่จีนจะนับวันแรกของฤดูใบไม้ผลิในช่วงวันที่ 23 - 24 เดือน 12) โดยในช่วงนี้ พฤกษานานาพันธุ์และพืชผลจะเจริญงอกงามได้ดี เนื่องจากอากาศจะอบอุ่นมากขึ้น เริ่มมีฝนโปรย อันเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่ ชาวจีนเลยถือกันว่างานนี้ต้องมีฉลองกันหน่อยก่อนที่งานการที่หนักหน่วงจะเริ่มถาโถมเข้ามาหลังนี้ไปแล้ว

คราวนี้ก็จะเป็นเรื่องราวของ 5 สิ่ง
ที่บอกให้ทุกคนได้รู้ว่าวันชุนเฟินนั้นมาถึงแล้วน่ะครับ

1. เจ้านกนางแอ่นบินขึ้นเหนือกลับบ้าน
คนจีนโบราณกล่าวกันเอาไว้าว่าเมื่อใดก็ตามที่นกนางแอ่นบินกลับขึ้นเหนือมา หลังจากหนีหนาวไปลั้นลาทางใต้แถวไท่กั๋วหรือไทยแลนด์แดนสไมล์แล้ว นั่นหมายความว่าเวลานั้นเข้าสู่ช่วงชุนเฟินแล้ว (เตรียมฉลองกันได้เลยครับ)


 2. ประเพณีตั้งไข่
ประเพณีการตั้งไข่ในวันชุนเฟิน อันสืบทอดมายาวนานกว่า 4,000 ปี ตรงกับช่วงวันที่ 20-22 มี.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ระยะเวลาในตอนกลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน เล่ากันแต่โบราณกาลว่า ในวันชุนเฟินนี้ จะสามารถตั้งไข่ให้ตรงได้ง่าย เนื่องจากแกนโลกเอียงทำองศากับวงโคจรโลกได้อย่างพอดีสำหรับการตั้งไข่ให้ได้ผลสำเร็จ จะต้องใช้ไข่ที่สดใหม่ไม่เกิน 4-5 วัน และหาจุดนูนบนเปลือกไข่ 3 จุด จากนั้นเล็งให้แกนกลางของไข่อยู่ตรงกึ่งกลางพอดี โดยเชื่อว่าใครที่สามารถตั้งไข่ได้จะได้รับโชคดีไปตลอดทั้งปีเหมือนเริ่มต้นฤดูอันเป็นมงคลนี้ด้วยการทำสิ่งยากให้ประสพความสำเร็จได้ แต่สำหรับที่ไต้หวันประเพณีตั้งไข่นี้จะทำกันในฤดูร้อนช่วงเทศกาลไหว้บะจ่าง (เทศกาลตวนอู่) ซึ่งมีความหมายเหมือนกันแต่ไม่รู้ว่าพอย้ายเกาะไปปุ๊บประเพณีนี้เปลี่ยนวันไปได้อย่างไรเหมือนกัน


3. กินผักที่ปลูกในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงวันดังกล่าว จะมีการกินชุนไช่ "春菜" หรือผักสดที่เพิ่งโตเต็มที่เป็นการต้อนรับฤดูแห่งการเพาะปลูก ก็จะนำผักเหล่านั้นมากินกันในครอบครัว บางพื้นที่ เช่นทางตะวันออกเฉียงเหนือแถบเหลียวหนิง (บ้านเกิดของป๋ากู้ไห่แห่ง HEROIN WEB SERIES) ก็จะกินผักเหล่านั้นกับแผ่นแป้งกลมบางๆ (ขนมชุนปิ่ง / 春饼) นำมาห่อเป็นเหมือนปอเปี๊ยะ ถือว่าจะเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว เพราะคนโบราณสอนกันมาว่าถ้ากินผักตามฤดูกาลแล้วจะมีสุขภาพที่ดีและนำมาสู่ความโชคดี

4.พิธีบูชาพระอาทิตย์โดยทั่วไปแล้วพิธีบูชาพระอาทิตย์นั้นจะจัดในช่วงของ Zhonghe /  Longtaitou Festival แต่ในส่วนของชาวปักกิ่งเองนั้นนิยมจัดพิธีบูชาพระอาทิตยืในช่วงเทสกาลชุนเฟินแทน ตามขนบประเพณีของราชสำนักที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง - ชิง โดยสมัยก่อนจะเป็นพระราชพิธีเฉพาะราชสำนักเท่านั้น แต่ต่อมาภายหลังในปัจจุบัน พิธีนี้ก็เป้นที่แพร่หลายนิยมทำกันโดยทั่วไป      

5. ประเพณีการให้อาหารแก่สัตว์เลี้ยง
ประเพณีนี้นิยมกันในภาคใต้ของจีนครับ จะว่าไปทำไมต้องให้อาหารสัตว์ด้วยเพราะปกติก็ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว อันที่จริงประเพณีนี้ไม่ใช่การเลี้ยงดูกันแบบธรรมดา เนื่องจากว่าต่อจากนี้ไปเหล่าเกษตรกรและสัตวืเลี้ยงจะต้องเริ่มการทำงานอย่างหนักในฤดุการเพาะปลุกนี้ ดังนั้นก่อนจะเริ่มการทำงานชาวบ้านจะหาอาหารอย่างดีโดยเป็นข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกลมป้อนแก่สัตว์เลี้ยงของพวกเขาพร้อมกับในช่วงนี้พวกเขาจะต้องปฏิบัติกับเหล่าสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดี (ประมาณว่าไม่ทุบตี) ซี่งตามความเชื่อนี้แสดงออกถึงการขอบคุณพวกมัน ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถมีกิน มีผลผลิตที่ดี นอกจากนี้บางคนถึงขนาดให้อาหารแก่นกเพื่อขอบคุณที่พวกมันช่วยบอกสัญญาณว่าฤดุการเพาะปลุกได้เรื่มขึ้นแล้ว (เหมือนประมาณบอกพวกมันว่าตอนนี้ให้กินแล้วน่ะ ต่อไปอย่ามาแอบกินผลผลิตในท้องนาของเราจนเสียหายเลยน่ะ) 

.... นี่แหละครับ 5 สิ่งที่คนจีนบอกว่า ชุนเฟินมาถึงแล้วน่ะ...

Credit ข้อมูล : chinadaily.com.cn

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2559

วสันตวิษุวัติ - ครีษมายัน - ศารทวิษุวัติ - เหมายัน

... แค่อ่านชื่อโพสต์หลายๆคนคงนึกว่าจะรีวิวนิยายของสร้อยดอกหมาก "ครีษมายัน-อมันตรา" หรือเปล่า??? ... เพราะที่บ้านผมก็มีอยู่เล่มนึง ... 555 ไม่ใช่หรอกครับ แต่ที่มาของบทความนี้ก็มาจากชื่อนิยายนี่แหละ ตอนแรกก็สงสัยน่ะว่าแปลว่าอะไร แต่วันนี้ได้โอกาสประจวบเหมาะเนื่องจากวันนี้คือวันวสันตวิษุวัติ หนึ่งใน 4 วันที่เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติอย่างนึงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนฤดูการณ์ตามหลักสากล (ครีษมายันคือหนึ่งในนั้นด้วย) ฉะนั้นก็เลยอยากเอาความรู้นี้มาแบ่งปันกันให้เพื่อนๆได้ทราบกันน่ะครับ อย่างน้อยก็จะได้รู้ความหมายของคำศัพท์ไทยยากๆ 4 คำนี้ เผื่อวันหลังจะได้โม้กับเพื่อนได้รู้เรื่องครับ
... รู้หรือไม่ว่าวันนี้ของทุกปี (หรือประมาณ 20 - 21 มีนาคมของทุกปี) คือวันราตรีเสมอภาค จะเป็นวันที่มีกลางวันเท่ากับกลางคืนเป๊ะเลยครับ คือ 12 ชั่วโมงเท่ากันเราเรียกวันนี้ว่าวัน "วสันตวิษุวัต หรือ Vernal Equinox" ในทางดาราศาสตร์หมายถึงวันที่แสงจากดวงอาทิตย์ตกลงบนพื้นโลกเป็นมุมตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรพอดี จึงถือว่าวันนี้เป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอย่างเป็นทางการของฝั่งซีกโลกเหนือครับ ดังนั้นเราจะเห็นคำว่า Spring Equinox ซึ่งก็หมายถึงวันวสันตวิษุวัตเช่นเดียวกัน
... จริงๆแล้วใน 1 ปีจะมีปรากฎการณ์แบบนี้อยู่ 2 ครั้งครับ คือวันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20-21 มีนาคม และอีกวันนึงเรียกว่า "ศารทวิษุวัต หรือ Autumnal Equinox" จะตรงกับวันที่ 22 - 23 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์วนกลับมาตั้งฉากกับผิวโลกที่เส้นศุนย์สูตรอีกครั้ง นั่นก็คือวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูไบไม้ร่วงนั่นเอง
... ก็ด้วยความที่แกนโลกเอียง แถมโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีซะอีก ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งวัน แสงจากดวงอาทิตย์ก็จะไม่ตกตั้งฉากในตำแหน่งเดิมครับ คือจะค่อยๆเลื่อนขึ้นไป (เพราะโลกจะค่อยๆเอียงซีกโลกฝั่งเหนือเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ขึ้น) ดังนั้นในซีกโลกฝั่งเหนือนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้ไปก็จะเริ่มมีกลางวันมากกว่ากลางคืนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อากาศก็จะร้อนขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดไกลที่สุดที่พระอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวซีกโลกฝั่งเหนือก็คือที่เส้น Tropical of Cancer หรือ ละติจูดที่ 23.5 องศาเหนือนั่นเอง วันนั้นเราจะเรียกว่า "ครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solostice" ซึ่งจะตรงกับวันที่ 20 - 21 มิถุนายนของทุกปี หรือเป็นวันเริ่มต้นของฤดูร้อนของซีกโลกเหนือนั่นเอง
... จากนั้นพี่ดวงอาทิตย์จะย้อนกลับครับไปไกลสุดได้แค่นั้น ก็ถอยลงมาเรื่อยๆจนถึงวันศารทวิษุวัติ (เริ่มฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกเหนือแต่เริ่มฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกใต้) จากนั้นก็โลกจะเริ่มเอียงเอาซีกโลกใต้หันหาพระอาทิตย์แล้วครับ ซีกโลกเหนือจะค่อยๆเย็นลง จนกระทั่งแสงจากดวงอาทิตย์ตกตั้งฉากกลับโลกไกลจากซีกโลกเหนือมากที่สุดคือที่เส้น Tropical of Capricorn หรือ ละติจูดที่ 23.5 องศาใต้ วันนั้นซีกโลกฝั่งเหนือจะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ ก็จะประมาณวันที่ 21 - 22 ธันวาคม เราเรียกว่า "วันเหมายัน(เห-มา-ยัน) หรือ Winter Solstice" วันนั้นทางซีกโลกเหนือจะมีกลางคืนนานกว่ากลางวันมากที่สุดประมาณ 13 / 11 ชั่วโมง แต่ในทางซีกโลกใต้ก็จะเป็นวันเข้าสู่หน้าร้อนและวันที่มีกลางวันยาวกว่ากลางคืนมากที่สุดนั่นเอง



.... ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศใดที่อยู่ระหว่างเส้นศูนย์สูตรจนถึงเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ หรือถึงเส้นทรอปิคออฟแคปริคอร์นก็ตาม ก็จะมีโอกาศที่จะร้อนถึงขีดสุดได้เท่าๆกัน หมายถึงทุกที่จะต้องมีวันใดวันหนึ่งที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในระยะทางใกล้เคียงกันได้พอๆกัน (ดวงอาทิย์จะตั้งฉากกับบ้านเราประมาณวันที่ 25 - 26 เมษายน) แต่จะเห็นได้ว่าทำไมบ้านเราถึงร้อนกว่าเค้าน่ะ ก็เป็นเพราะว่าเราอยู่ในช่วงใกล้พระอาทิตย์ตั้งแต่เดือนประมาณมีนาคม ลากยาวไปถึงเดือนสิงหาคมเลยครับ กว่าดวงอาทิตย์จะหนีจากซีกโลกเหนือไปก็โน่นแหละปลายเดือนกันยายน เพราะฉะนั้นแล้วยิ่งเขตต่ำกว่าละติจูด 5 องศาเหนือลงไปปีๆนึงจะได้เจอพระอาทิย์แบบใกล้ชิดนานแค่ไหน อย่าได้คิดเลยครับ 6 เดือนเต็ม แต่ก็เป็นที่โชคดีเพราะเขตเส้นศูนย์สูตรจะมีมรสุมวนไปเวียนมาตลอดกลายเป็นร้อนบวกฝนเป็นเขตร้อนชื้นตลอดเวลาเลยมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ไม่ร้อนไม่หนาว อากศค่อนข้างร้อนสม่ำเสมอตลอดปี ฝนก็ตกเกือบทุกวันนั่นเอง เพราะฉะนั้นโซนที่ซวยก็คือละติจูดประมาณ 5 - 15 องศาเหนือขึ้นไป / 5 - 15 องศาใต้ลงมา ก็จะที่มีอากาศร้อนค่อนข้างนานราว 4- 5 เดือน แถมฝนตกมั่งไม่ตกมั่งเขตนี้ล่ะครับ เมืองร้อนของแท้เลยท่านผู้ชม ...5555 นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมภาคกลาง อีสาน เหนือเวลาหน้าร้อนจะหนักกว่าภาคใต้ หรือยกภาพง่ายๆน่ะว่าเขตนี้มีใครบ้าง เช่น ไทยแลนด์ อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ตะวันออกกลาง เขตซาฮาร่าและแอฟริกาเหนือ ตอนใต้ของเม็กซิโก หรือในซีกโลกใต้ที่อยู่ในเขตประมาณนี้ เช่น ภาคเหนือออสเตรเลีย อาฟริกาตอนใต้ เปรู ชิลี ภาคเหนือของอาร์เจนติน่า เป็นต้น

ปล.บางประเทศถือว่าโชคดีคืออยู่ในเขตนี้ก็จริงแต่มีมรสุมมาช่วยชีวิตเลยไม่ร้อนจัดเช่น ฟิลิปปินส์ อเมริกากลาง แคริบเบียน

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

The Violin - เรื่องราวของประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่ดูไปยิ้มไป

จากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับไวโอลินคันหนึ่งที่มีจุดเริ่มต้น ณ ย่าน Boat Quay ในปี 1939 เด็กชายชาวสิงคโปร์ผู้หนึ่งได้รับไวโอลินเก่าๆจากชายต่างชาติแปลกหน้า จากนั้นไวโอลินคันนี้กลายมาเป็นภาพเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่ผ่านกาลเวลายาวนานกว่า 80 ปี ... 
สำหรับแอนนิเมชั่นเรื่องนี้จัดทำขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองประเทศสิงค์โปร์ครบรอบ 50 ปี  เมื่อไม่นานมานี้ ครั้งแรกที่ได้ชมน่ะ ผมนี้อมยิ้มไป น้ำตาซึมไป เพลงประกอบก็เพราะ เนื้องเรื่องดูแล้วเข้าใจง่าย แถมเกิดแรงบันดาลใจที่จะหาเรื่องราวประวัติศาสตร์สิงคโปร์มานั่งอ่านทำไปทำมากลายเป็นว่ามีประเด็นน่าสนใจจนต้องหาอ่านกันนานพอสมควรเลยครับ 
เอาเป็นว่าไปชมกันเลยดีกว่า เพราะอยากรู้ว่าเพื่อนๆเมื่อได้ดูแล้วรู้สึกแบบผมหรือเปล่า

"ถ้าเมืองไทยมีคนคิดทำสื่อดีๆแบบนี้บ้างเยอะๆ ลูกหลานไทยพอโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่จะได้ไม่ไปไหว้ลูกวัว 5 ขาเพื่อขอหวยกันน่ะครับ"


The Violin (小提琴) from Robot Playground Media on Vimeo.

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

เรื่องของไตรภูมิ : ตอนที่ ๒ ไตรภูมิคืออะไร??

ผมเชื่อว่าความเข้าใจของหลายๆคนคงคิดว่า "ไตรภูมิ" คือ สวรรค์ โลก และ นรก เหมือนกับที่ผมเข้าใจมาตลอด จนพอได้มารู้จักกับไตรภูมิจริงๆ จึงได้รู้ว่ามันช่างลึกล้ำพิศดารกว่าที่เราคิดเอาไว้มากเลยทีเดียว กล่าวคือ "ไตรภูมิ" คือดินแดน 3 ดินแดนทีประกอบกันเป็นจักรวาลตามคติทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ  ซึ่งแต่ละภูมิก็จะมีภูมิแยกย่อยไปอีก แถมแต่ละภูมิย่อยก็ยังมีดินแดนต่างๆ ที่ชื่อก็แสนจะยุ่งยาก จำกันปวดหัวอีกต่างหาก ผมก็เลยทำตารางช่วยจำง่ายๆ (อย่างย่ออีกต่างหาก) ของไตรภูมิตามภาพด้านล่างเลยครับ  
(ไม่ต้องจำชื่ออะไรมากมายน่ะครับเพราะจำไปไม่ค่อยได้ใช้อยู่ดี แต่ถ้าอยากจำก็จำแค่เฉพาะตัวหนังสือสีแดงก็พอครับ อันนี้น่าจะต้องได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆแน่ๆสำหรับนักเรียนศิลปะไทย นักเรียนประวัติศาสตร์)
... จากทั้ง 3 ภูมิ ในกามภูมิ เป็นภูมิที่ยังเกี่ยวข้องกับกามตัณหาอยู่ ยังมีความโลภ โกรธ หลง มีความอยาก ทุกข์สุข ซึ่งจะเห็นได้ว่าในกามภูมินั้นประกอบไปด้วย สวรรค์ โลก และ นรก ดังนั้นทั้งเทวดา นางฟ้า พญามาร มนุษย์ อมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ต่างๆ จึงยังมีการข้องแวะกันอยู่ แต่สำหรับในรูปภูมิและอรูปภูมินั้น เป็นในส่วนที่สูงขึ้นไปซึ่งแทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับรู้ของมนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเราเลย ยิ่งการเขียนคำอธิบายถึงรูปภูมิและอรูปภูมิในไตรภูมิกถานั้นแสนจะเข้าใจยากเสียด้วย ดังนั้นการรับรู้ของพวกเราจะวนๆกันอยู่ในแถวๆกามภูมินี่แหละครับ  (จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมให้จำแต่สีแดง) ซึ่งการทำความรู้จักไตรภูมิในบริบทเพื่อความเข้าใจในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น เราจะมาโฟกัสกันที่กามภูมิกันน่ะครับ

... ต่อมาสิ่งสำคัญของการศึกษาไตรภูมิที่จะต้องเข้าใจกันก่อน เพื่อให้ได้อรรถรสและความเข้าใจที่ง่ายขึ้น นอกจากจะจำชื่อภูมิ จำชื่อดินแดนต่างๆแล้ว เราจะต้องมารู้จักแผนที่จักรวาลกันอีกอย่างครับ เพื่อที่จะได้รู้ว่าดินแดนต่างๆเหล่านี้มันอยู่ตรงไหนในแผนที่แบบไตรภูมิ (แน่นอนมีชื่อยาวๆยากๆแปลกๆมาให้จำกันเพิ่มอีกแล้วครับท่าน) เรามาเริ่มกันจากแกนกลางของจักรวาลกันก่อนครับ ให้ลองนึกภาพตามน่ะครับว่าแกนกลางมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งมีความสูง 168,000 โยชน์ โดยโผล่พ้นน้ำมา 84,000 โยชน์ และจมลงในพื้นน้ำอีก 84,000 โยชน์ มีชื่อว่าเขาสิเนรุ หรือ เขาพระสุเมรุนั่นเอง โดยที่บริเวณฐานลึกสุดมีภูเขาอีก 3 ลูกเล็กๆหนีบเขาพระสุเมรุเอาไว้ มีชื่อเรียกว่าเขาตรีกูฏ รอบๆเขาพระสุเมรุมีหมู่ภูเขาบริวารล้อมรอบเขาพระสุเมรุเอาไว้เป็นรูปวงแหวนซ้อนกัน 7 วงมีความสูงลดหลั่นกันลงมาจากวงในสุด ไปยังวงนอกสุด (วงในสุดที่ติดกับเขาพระสุเมรุจากสูงที่สุด) เราเรียกว่าเทือกเขาสัตบริภัณฑ์ ซึ่งระหว่างเทือกเขาทั้ง 7 นี้มีแม่น้ำคั่นอีก 7 สายที่จะเชื่อมต่อกันแล้วขยายตัวเป็นพื้นมหาสมุทรเราเรียกว่า มหานทีสีทันดร ... จินตนาการง่ายๆเหมือนเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง แล้วมีภูเขารูปโดนัทซ้อนเป็นวงกลมอีก 7 อัน ระหว่างโดนัททั้ง 7 ก็มีแม่น้ำกั้น จนวงโดนัทชั้นนอกสุดถึงจะเป็นมหาสมุทร และในส่วนมหาสมุทรจะมีแผ่นดิน 4 ทวีปทั้งทาง เหนือใต้ออกตก ที่จะเป็นที่มนุษย์และสัตว์อาศัยอยู่ร่วมกัน .... พูดมาซะยืดยาวไปชมภาพประกอบเพื่อความเข้าใจกันดีกว่าครับ

แผนที่จักรวาลแบบตัดขวาง คร่าวๆจะเป็นแบบนี้ล่ะครับ

" ตอนต่อไปมารู้จักดินแดนต่างๆในกามภูมิกันน่ะครับ แต่ละที่มีชื่อคุ้นหูภาพคุ้นตากันมากมาย แล้วเราจะได้รู้ว่าไตรภูมินั้นอยู่ใกล้ตัวเรามากแต่แค่ไม่รู้เท่านั้นเองครับ "
ย้อนกลับไปชมตอนแรกได้ที่นี่ครับ


วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เกาะเรอูนิยง ฉากเล็กๆบนหน้าประวัติศาสตร์เวียดนาม

... เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องการพบซากเครื่องบินปริศนา ที่กองทัพอากาศฝรั่งเศสพบ บนเกาะเรอูนิยง (Réunion) จังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศส โดยต่อมาอีก 1 สัปดาห์ทางการมาเลเซียก็ได้ออกมาแถลงยืนยันว่าเป็นชิ้นส่วนของเครื่องบินโบอิ้ง 777 เที่ยวบินที่ MH370 !! แน่นอนว่าข่าวนี้สร้างความตกใจให้กับพวกเราๆท่านๆที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดปีกว่าๆได้มากทีเดียวครับ แถมสร้างความตื่นเต้นให้นักข่าวไทยได้มากทีเดียวเพราะวันแรกๆพี่ๆนักข่าวไทยก็อ่านชื่อเกาะนี้ว่า "รียูเนียน" กันอยู่หลายช่องทีเดียว (แอบแซวเล่นๆครับเพราะตอนแรกที่ตามข่าวผมก็ว่า "รียูเนียน" เหมือนกัน)
... มาถึงเรื่องของเราบ้างครับ ... จะว่าไปแล้วเกาะนี้มันมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อยครับ ซึ่งที่จริงแล้วถ้าเป็นประวัติความเป็นมาของตัวเกาะเองก็อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความรับรู้ของเราเท่าไหร่น่ะครับ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องราวส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เวียดนามช่วงการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศสล่ะก็ เกาะนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะฉากเล็กๆฉากหนึ่ง ที่ใครๆหลายคนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญ นั่นก็คือเรื่องราวอัตชีวประวัติของ "จักรพรรดิ์ดุยตัน ผู้ที่เกือบจะเป็นบุรุษที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์เวียดนาม"
จักพรรดิ ดุยตัน (Emperor Duy Tan) จักรพรรดิพระองด์ที่ 11 ของราชวงศ์เหงียน (1907 - 1916) 

... สำหรับเรื่องราวนี้ ผมต้องขออนุญาตย้อนกลับไปปูเรื่องกันยืดยาวสักนิดน่ะครับ คือตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสตวรรษที่ 19 เพื่อความเข้าใจกันเสียก่อน กล่าวคือช่วงนั้นนอกจากจะเป็นช่วงที่ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทอย่างมากในราชสำนักของราชวงศ์เหงียนแล้วนั้น ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ฝรั่งเศสเริ่มแผนการณ์รุกคืบเข้ามายึดครองดินแดนของเวียดนามมากขึ้น โดยเริ่มจากช่วงทศวรรษที่ 1860s ที่ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองดินแดนโคชินไชน่า (แถบเมืองไซ่ง่อนและดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง) แต่ถึงกระนั้นราชวงศ์เหงียน ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิ ตึดึ๊ก (Tu Duc) ซึ่งพระองค์มีนโยบายที่ค่อนข้างแข็งกร้าวกับต่างชาติ ทำให้ยังรักษาที่มั่นหลักในบริเวณภาคกลางของประเทศหรือเขตอันนัม (Annam) เอาไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตามราชวงศ์เหงียนก็ไม่สามารถต้านทานเอาไว้ได้นานนัก สุดท้ายก็ต้องยกสัมปทานเมืองท่าใน 3 เขตหลักคือ ตังเกี๋ย อันนัม และ โคชินไชน่า ให้กับฝรั่งเศสในที่สุด


ดินแดนต่างๆในคาบสมุทรอินโดจีนที่ถูกฝรั่งเศสและอังกฤษยึดครอง
ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 - ต้นคริสตศตวรรษที่ 20
จักรพรรดิ ตึดึ๊ก (Emperor Tu Duc) จักรพรรดิพระองด์ที่ 4 ของราชวงศ์เหงียน (1847 - 1883)
และเป็นจักรพรรดิ์พระองค์สุดท้ายที่ทรงปกครองจักรวรรดิเวียดนามในฐานะรัฐเอกราช

... จนกระทั่งปี 1883 จักพรรดิตึดิ๊กสวรรคต การเมืองในราชสำนักก็วุ่นวายหนักมากในเรื่องการสืบราชสมบัติ เนื่องจากพระองค์ไม่มีรัชทายาทสืบต่อ มีแต่การรับพระนัดดามาเป็นบุตรบุญธรรม โดยมีพระนัดดา ที่เป็นโอรสของพระอนุชาลำดับที่ 26 ของพระองค์ นั่นคือเจ้าชาย เหงียนฟุค องไค (ต่อมาคือจักรพรรดิดองคานห์ - จักรพรรดิพระองค์ที่ 9 ของราชวงศ์เหงียน) ที่หลายๆคนคาดว่าพระองค์จะขึ้นเป็นจักรพรรดิสืบต่อแทนพระองค์ เพราะมีเพียงแค่พระองค์เดียวที่ทรงได้รับการสถาปนาพระอิศรยศขั้นสูงขึ้นเป็นถึงเจ้าชายแห่งเกียนซาง (Prince of Kien Giang) แต่แล้วเหล่าขุนนางผู้มีอำนาจในราชสำนักกลับเลือกเอาเจ้าชายเหงียนฟุค องอ้าย โอรสของพระอนุชาลำดับที่ 4 ขึ้นเป็นจักรพรรดิดึคดึค (Duc Duc) แทนด้วยเหตุผลที่ทางนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นความประสงค์ของจักรพรรดิตึดึ๊กที่คาดว่าเจ้าชายเหงียนฟุค องอ้าย จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการคุกคามของฝรั่งเศสได้ดีกว่าเจ้าชายเหงียนฟุค องไค (ที่นักประวัติศาสตร์มองว่าทรงเป็นคนหัวอ่อน) แต่สุดท้ายคาดว่าเป็นความประสงค์ของฝรั่งเศสอย่างแน่แท้ เพราะจักรพรรดิดึคดึคก็ทรงอยู่ในตำแหน่งเพียง 3 วันเท่านั้น ก็ทรงสละราชสมบัติ และหลังจากนี้มีการเปลี่ยนพระจักรพรรดิถึง 4 พระองค์ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี สุดท้ายในปี 1885 ฝรั่งเศสก็ได้จักรพรรดิหนุ่มที่ถือว่าตรงสเป็กที่สุด นั่นคือจักรพรรดิดองคานห์ ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งเวียดนาม (นอกจากนั้นแล้วหลังจากที่มีการสถาปนาดินแดนอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี 1884 แล้ว ก็มีการปลดพระจักรพรรดิเวียดนามและแต่งตั้งใหม่โยกย้ายกันไปมาระหว่างสายจักรพรรดิดึคดึค กับสายของจักรพรรดิดองคานห์ จนสิ้นสุดระบอบจักรพรรดิของเวียดนาม ก็เพราะหลักเกณฑ์สำคัญของฝรั่งเศสคือการเป็นจักรพรรดิเวียดนามต้องเชื่อฟังและควบคุมได้) 
จักรพรรดิ ดองคานห์ (Emperor Dong Khanh) จักรพรรดิพระองด์ที่ 9 ของราชวงศ์เหงียน (1885 - 1889) 
ผู้คาดหมายว่าจะเป็นรัชทายาทต่อจากจักรพรรดิตึดึ๊ก แต่กว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์ในปี 1885
จากการสนับสนุนของฝรั่งเศส ต้องรอการผลัดเปลี่ยนบัลลังค์มาอีกถึง 4 รัชกาล โดยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์
พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นจักรพรรดิที่ยอมเชื่อฟังและให้ความร่วมมือกับฝรั่งเศสมากที่สุด
... แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผันไป คือในปี 1889 จักรพรรดิดองคานห์เสด็จสวรรคต ในขณะที่พระโอรสของพระองค์คือเจ้าชายเหงียนฟุค บู๋เด๋า (ต่อมาคือจักรพรรดิไก๋ดินห์ - Emperor Khai Dinh) มีพระชนมมายุเพียง 4 พรรษาเท่านั้น ทรงยังไม่พร้อมที่จะขึ้นครองราชสมบัติ ประกอบกับทางฝรั่งเศสเกรงว่าแผนการกลืนชาติของตนเองอาจจะพบปัญหาอุปสรรคก็เป็นไปได้ เหล่าขุนนางในราชสำนักและข้าหลวงของฝรั่งเศสจึงเลือกเอาเจ้าชายเหงียนฟุค บู๋ล่าน พระโอรสของจักรพรรดิดึคดึค ที่ประชาชนให้ความเคารพมากกว่าจักรพรรดิดองคานห์ ขึ้นเป็นจักรพรรดิธานห์ไธ (Thanh Thai) โดยหวังว่าจะเป็นการลดกระแสกดดันจากชาวเวียดนามได้ แต่ปรากฏว่าความคิดนี้ของฝรั่งเศสนี้กลับผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะจักรพรรดิหนุ่มผู้ชาญฉลาดพระองค์ใหม่นี้มีบุคคลิกที่ทรงนำสมัยและมีพระราชกุศโลบายที่หลักแหลม แม้ว่าทรงขมขื่นกับการที่ประเทศต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก แต่ก็ทรงเป็นมิตรกับชาวตะวันตกและพยายามปฏิรูปราชสำนักเวียดนามให้ทันสมัยโดยเอาแบบอย่างตะวันตกมาใช้ เพื่อทรงวางรากฐานให้ประเทศเข้มแข็งและสักวันจะสามารถขับไล่ฝรั่งเศสให้สำเร็จได้ 
จักรพรรดิ ธานห์ไธ (Emperor Thanh Thai) จักรพรรดิพระองด์ที่ 10 ของราชวงศ์เหงียน (1889 - 1907) 
และพระราชบิดาของจักรพรรดิดุยตัน ทรงเป็นจักรพรรดิที่เริ่มต้นแนวคิดการต่อต้านจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสในเวียดนาม
... ด้วยนโยบายที่ค่อนข้างผ่อนปรนของฝรั่งเศสในการปกครองเวียดนามในช่วงปี 1902 - 1907 ในไม่ช้าพระองค์ก็ตระหนักว่าตอนนี้ได้เวลาที่เวียดนามต้องลุกขึ้นมาต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส โดยว่ากันว่าพระองค์ทรงแสร้งทำว่าพระองค์มีความไม่สมประกอบด้านจิตใจ เพื่อให้เหล่าสายลับของฝรั่งเศสในพระราชวังหลวงที่เมืองเว้ เชื่อว่าพระองค์มีสติวิปลาต จนตายใจว่าพระองค์จะไม่ทรงมีพิษภัยกับการปกครองของฝรั่งเศส แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านจักรวรรดินิยมของจีน และทรงได้รับอิทธิพลความคิดของคัง หยู่เหวย (Kang Youwei - นักปฏิรูปหัวก้าวหน้าของจีนที่มีอิทธิพลอย่างมากของเหล่าปัญญาชนของจีนในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20)  เฉกเช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวและเหล่าปัญญาชนของเวียดนามในขณะนั้น เพื่อเริ่มดำเนินแผนการต่อสู้ขับไล่ฝรั่งเศสออกจากเวียดนาม แต่แล้วในปี 1907 พระองค์ถูกจับได้ ทรงถูกกองทัพฝรั่งเศสควบคุมตัวและเนรเทศไปอยู่ที่เมืองหวุงเต่า (Vung Tau) เมืองชายทะเลอันไกลโพ้นทางภาคใต้ของเวียดนาม แต่เพราะเกรงว่าจะเกิดการต่อต้านที่รุนแรงของชาวเวียดนาม อันเนื่องมาจากการปลดจักรพรรดิที่เป็นที่เป็นที่นิยมและเคารพนับถืออย่างมาก ทางฝรั่งเศสจึงตัดสินใจแต่งตั้งเจ้าชายเหงียนฟุค วินห์ซาน พระโอรสของจักรพรรดิธานห์ไธ ขึ้นเป็นจักรพรรดิดุยตัน (Duy Tan) หรือที่นักวิชาการไทยหลายท่านออกเสียงว่า "ยวีเติ้น" ขึ้นเป็นจักพรรดิต่อจากพระราชบิดา ขณะมีพระชนมายุได้เพียง 7 พรรษาเท่านั้น เพราะอย่างไรเสียฝรั่งเศสก็คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นการลดแรงกดดันของประชาชนได้มากทีเดียว และในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่า "ยุวกษัตริย์ย่อมเชื่อฟังและสามารถควบคุมได้ง่าย"


จักรพรรดิดุยตัน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะพระชนมายุได้ 7 พรรษา
ขบวนเสด็จจักรพรรดิดุยตันในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระราชวังหลวงเมืองเว้ ปี 1907

.... กาลเวลาผ่านไปจากยุวกษัตริย์ ก็เจริญพระชนม์เป็นจักรพรรดิหนุ่ม ที่ตอนแรกฝรั่งเศสมองว่าสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วจักรพรรดิดุยตัน ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดามาโดยตลอด เพราะขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในพระราชวังหลวง (อาจจะเรียกได้ว่าถูกกักบริเวณก็ได้) ทรงมีพระสหายเป็นเหล่าขุนนางบางกลุ่มที่ยังจงรักภักดีต่อพระราชบิดาของพระองค์ ที่ปลูกฝังแนวคิดการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศให้กับพระองค์ (อันจะมีผลต่อความคิดทางการเมืองของพระองค์ในอนาคต) แผนการการก่อตั้งกองกำลังเพื่อต่อสู้ขับไล่ฝรั่งเศสจึงเริ่มขึ้น
ตรัน จ่าว ฟ๋าน  (Trần Cao Vân) ที่ปรึกษาและขุนนางเก่าตั้งแต่สมัยจักรพรรดิธานห์ไธ ผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดเรื่องการต่อสู้เพื่อเอกราชของจักรพรรดิดุยตันตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สุดท้ายเขาถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ข้อหาต่อต้านอำนาจฝรั่งเศสในปี 1916

... ในปี 1916  จักรพรรดิดุยตัน ขณะมีพระชนมายุ 16 ชันษา และ ตรัน จ่าว ฟ๋าน (Tran Cao Van) ขุนนางคู่ใจที่ปลูกฝังความคิดการต่อสู้เพื่อเอกราชให้กับพระองค์ ได้อาศัยช่วงที่ฝรั่งเศสติดพันการศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยไม่ได้เข้มงวดเรื่องการปกครองดินแดนอาณานิคมมากนัก ได้ทำการหลบหนีออกจากพระราชวังหลวงเพื่อออกไปเคลื่อนไหวและบัญชาการกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสที่ตระเตรียมเอาไว้แล้ว แต่ว่าแผนการลับนี้กลับรั่วไหลออกไปจากคนภายในกันเองเสียก่อน ทันใดนั้นกองทัพฝรั่งเศสก็เข้ามาล้อมพระราชวังหลวง จับตัวพระองค์พร้อมผู้ร่วมก่อการทั้งหมดได้ จากนั้นไม่กี่วันผู้ร่วมก่อการครั้งนี้ทั้งหมดถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ แต่ฝรั่งเศสเห็นว่าไม่เป็นการดีแน่ๆถ้าจะประหารชีวิตจักรพรรดิดุยตันด้วย เพราะพระองค์ยังทรงชันษาไม่มากนัก และจะมีแรงกระเพื่อมมหาศาลตามมาถ้าประหารชีวิตพระองค์ ฝรั่งเศสจึงเลือกที่จะเนรเทศพระองค์ไปยังเกาะเรอูนิยงแทน พร้อมกับจักรพรรดิธานห์ไธพระราชบิดา เป็นการกำจัดสองอุปสรรคสำคัญของฝรั่งเศสออกไปในคราวเดียวกัน จากนั้นก็แต่งตั้งเจ้าชายเหงียนฟุค บู๋เด๋า พระโอรสของจักรพรรดิดองคานห์ ขึ้นเป็นจักรพรรดิไก๋ดินห์ (Khai Dinh) ขึ้นปกครองเวียดนามแทน ทรงเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดที่ดีเหมือนพระราชบิดาของพระองค์ ทรงมีนโยบายหลายอย่างที่สอดคล้องกับนโยบายการกลืนชาติของฝรั่งเศส พระองค์จึงไม่เป็นที่นิยมของชาวเวียดนาม แต่เป็นที่พอใจของฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก แต่ด้วยพระองค์ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์แล้ว ปลายปี 1925 พระองค์เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหัน ฝรั่งเศสจึงต้องตั้งพระโอรสขึ้นเป็นจักรพรรดิแทนนั่นก็คือจักรพรรดิบ๋าวได๋ (Bao Dai) จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของเวียดนาม


จักรพรรดิ ไก๋ดินห์ (Emperor Khai Dinh) จักรพรรดิพระองด์ที่ 12 ของราชวงศ์เหงียน (1916 - 1925) 
จักรพรรดิ บ๋าวได๋ (Emperor Bao Dai) จักรพรรดิพระองด์ที่ 13 ของราชวงศ์เหงียน (1926 - 1945)
จักรพรรดิองค์สุดท้ายของเวียดนาม พระองค์เติบโตและได้รับการศึกษาอยู่ในฝรั่งเศสตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และเป็นที่รับรุ้โดยทั่วไปว่าพระองค์เป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดให้กับฝรั่งเศส เช่นเดียวกับพระอัยกาและพระบิดา แต่ต่อมาภายหลังพระองค์มีกลับมามีบทบาทช่วงสั้นๆในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกี่ยวกับกระบวนการเรียกร้องเอกราชเวียดนาม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากประชาชนเวียดนามไม่ได้ให้ความนิยมในตัวพระองค์มากนัก ท้ายที่สุดเมื่อเวียดนามล้มเลิกระบอบการปกครองแบบจักรพรรดิ พระองค์ก็เสด็จลี้ภัยไปประทับที่ประเทศฝรั่งเศสจนสิ้นพระชนม์ที่นั่น ในปี 1997

... ชีวิต ณ เกาะเรอูนียง แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้วก็ตาม จักรพรรดิดุยตัน ก็ยังเป็นที่นิยมและได้รับความเคารพอย่างสูงในหมู่ชาวเวียดนามที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราชทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนั้นเมื่อพระองค์มาประทับอยู่ที่เรอูนียง ทำให้พระองค์ได้รับแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆซึ่งล้วนแต่เป็นอุดมการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชทั้งสิ้น ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงให้การสนับสนุนแนวร่วมฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศสอย่างเปิดเผยด้วยการ เข้าร่วมชุมนุมและออกปราศัยสนับสนุนตัวแทน Popular Front ที่เกาะเรอูนียง  ในปี 1936  อย่างไรก็ตามด้วยสถานะของพระองค์ในตอนนั้นก็มีโอกาสน้อยมากที่จะได้กลับมาต่อสู้เพื่อเอกราชในแผ่นดินมาตุภูมิอีกครั้ง 
จักรพรรดิดุยตันเข้าร่วมชุมนุมเพื่อสนับสนุนแนวร่วมฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศส ที่เกาะเรอูนียง ในปี 1936


... ต่อมาหลังจากนั้นไม่นานนักสถานการณ์ของโลกก็เปลี่ยนไป เกิดความระส่ำระส่ายไปในทุกหนทุกแห่ง เนื่องด้วยการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนเกาะห่างไกลอย่างเรอูนิยงก็หนีไม่พ้นเช่นเดียวกัน คือ ในปี 1940 หลังจากที่นาซีเยอรมันบุกเข้ายึดครองกรุงปารีสและดินแดนส่วนใหญ่บนภาคพื้นทวีปได้แล้วนั้น อาณานิคมโพ้นทะเลในมหาสมุทรอินเดีย เช่น มาดากัสการ์ มอริเชียส เรอูนิยงก็ถูกเหล่าทหารนาซีเยอรมันบุกเข้ายึดครองเช่นเดียวกัน ระบอบวีซี (Vichy Regime in France ) ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อใช้ปกครองและควบคุมดินแดนทั้งหมดของฝรั่งเศส ภายใต้การนำของนาซีเยอรมัน แต่ความชอบธรรมของระบอบการปกครองนี้ก็หมดไปเพราะเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นหลายอย่าง เช่นการยกเลิกพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยหลายๆอย่าง การจับตัวหรือลักพาตัวชาวยิว หรือการสังหารประชาชนผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสายลับแบบไม่มีการสอบสวน เหล่านี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการท้ายทายอำนาจรัฐบาลสาธารณรัฐครั้งที่ 3 (รัฐบาลหุ่นเชิดของนาซีเยอรมันที่นำระบอบวีซีมาใช้ปกครองฝรั่งเศส) 
... จากการที่จักรพรรดิดุยตัน ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองที่กดขี่ในระบอบวีซี ในฐานะหนึ่งในพลเมืองฝรั่งเศสด้วยนั้น ประกอบกับพระองค์เป็นผู้ที่ถูกปลูกฝังแนวคิดเรื่องการต่อสู้เพื่อเอกราชติดตัวมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเข้าร่วมรบกับกองกำลังต่อสู้เพื่อเอกราชฝรั่งเศส (Free France Force) ที่มีนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) เป็นผู้นำกองกำลัง จนในที่สุดกองกำลังต่อสู้เพื่อเอกราชของฝรั่งเศสที่เกาะเรอูนิยงก็ประสพชัยชนะ ในช่วงต้นปี 1945
บทบาทการเป็นนายทหารสื่อสารในกองเรือพิฆาต Leopard  ของกองกำลังต่อสู้เพื่อเอกราชฝรั่งเศส
... หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาวะสงครามได้สิ้นสุดลง แต่กระแสการเรียกร้องเอกราชของเหล่าประเทศอาณานิคมกลับกลายมาเป็นประเด็นสำคัญแพร่กระจายไปทั่วโลกแทน เช่นเดียวกันเวียดนามก็เป็นหนึ่งที่มีการเรียกร้องเอกราชที่เข้มข้น ประกอบกับชัยชนะของกองทัพเวียดมินห์ ในสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ร่วมกับกองกำลังสัมพันธมิตร สามารถขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศได้ ทำให้ประชาชาชนเวียดนามต่างนิยมและสนับสนุนกองทัพเวียดมินห์เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวปกครองประเทศแบบสาธารณรัฐได้ หลังจากที่จักรพรรดิบ๋าวได๋ทรงสละราชสมบัติในเดือนสิงหาคม ปี 1945  
... ด้วยเหตุนี้ จักรพรรดิดุยตัน จึงกลับมาเป็นที่สนใจของชาวโลกอีกครั้ง เมื่อประธานาธิดีคนใหม่ของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ชาร์ล เดอ โกล เข้าเจราจากับจักรพรรดิดุยตัน เพื่อขอให้พระองค์กลับไปเป็นจักรพรรดิอีกครั้ง เพราะสถานการณ์ของฝรั่งเศสในเวียดนามค่อนข้างย่ำแย่ และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าองค์จักรพรรดิบ๋าวได๋ ไม่เป็นที่ต้องการของชาวเวียดนามอีกต่อไป ทั้งนี้ฝรั่งเศสมองว่าจักรพรรดิดุยตันยังเป็นที่นิยมของชาวเวียดนามอยู่มาก เพราะพระองค์เปรียบเสมือนหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเรียกร้องเอกราชของชาวเวียดนาม การได้พระองค์กลับไปเป็นจักรพรรดิอีกครั้ง ประเมินได้ว่าจะเป็นจุดประนีประนอมที่ดีที่สุด เพื่อลดแรงต่อต้านยืดเวลาให้ฝรั่งเศสตั้งหลักเพื่อเจราจาหรือหาข้อตกลงกับเวียดนามได้อีกระยะหนึ่ง แต่การเจราจาในครั้งนั้นมีรายละเอียดอย่างไรนั้นไม่มีใครทราบ ท้ายสุดแล้ว จักรพรรดิดุยตันก็ตัดสินพระทัยกลับไปยังเวียดนาม ท่ามกลางการรอคอยของประชาชนชาวเวียดที่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันจักรพรรดิ ที่หวังว่าพระองค์จะกลับมาเป็นแกนนำในการเรียกร้องเอกราชให้กับเวียดนาม 
... แต่แล้ว วันที่ 26 ธันวาคม 1945 ในระหว่างเส้นทางที่พระองค์จะเดินทางกลับไปยังเวียดนามอีกครั้งพร้อมกับเหล่าผู้สนันสนุนชาวเวียดนามหลายคน ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกที่สาธารณรัฐแอฟริกากลาง พระองค์และผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต พร้อมกับเป็นการดับความหวังของชาวเวียดนามที่มีต่อพระองค์ในฐานะผู้นำการเรียกร้องเอกราช จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ความหวังของการเรียกร้องเอกราชในเวียดนามทั้งหมดเทไปให้กับโฮจิมินห์ จนสุดท้ายก็เกิดสงครามระหว่างชาวเวียดนามกับฝรั่งเศสในปี 1949 และกินเวลาต่อมากว่า 5 ปี กระทั่งเวียดนามสามารถเผด็จศึกฝรั่งเศสได้ที่สมรภูมิเดียนเบียนฟู ในปี 1954 จนเป็นที่มาของอนุสัญญาเจนีวา ที่มีข้อตกลงให้แบ่งเวียดนามออกเป็น 2 ประเทศคือเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้


พระโอรสทั้ง  3 พระองค์นำหน้าขบวนเชิญอัฐิของจักรพรรดิดุยตัน
กลับมาบรรจุเอาไว้ในสุสานหลวง พระราชวังเดียนโธ  ในปี  1987

... นัยสำคัญประการหนึ่งในการมองภาพทางประวัติศาสตร์ ถ้าพระองค์ไม่ประสบอุบัติเหตุสิ้นพระชนม์เสียก่อน หน้าประวัติศาสตร์ของเวียดนามจะเป็นอย่างไร ในฐานะผู้นำของพระองค์จะนำพาเวียดนามไปในทางไหน โฮจิมินห์จะมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการเรียกร้องเอกราชให้เวียดนาม สงครามเวียดนามจะเกิดขึ้นหรือไม่ เชื่อว่าหลายสิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ ไม่มากก็น้อย 
... บทบาทของพระองค์ในเรื่องการต่อสู้เอกราชเพื่อชาวเวียดนามนั้นแม้จะไม่ได้โดดเด่นในหน้าประวัติศาสตร์ที่พอจะเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางนั้น แต่เชื่อว่าใครที่ได้อ่านอัตชีวประวัติของพระองค์แล้วก็จะพบว่า เด็กผู้ชายตัวเล็กๆคนหนึ่งที่เขามีความรักต่อแผ่นดินเกิดผู้นี้ น่าจะทำให้พวกเราระลึกถึงเรื่องราวชีวิตที่น่าจดจำเรื่องหนึ่งได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยที่สุดถ้าจะกล่าวว่าการได้มาซึ่งชัยชนะและความเป็นเอกราชของเวียดนามที่นำโดยโฮจิมินห์นั้น จะต้องมีเรื่องราวของพระองค์เป็นส่วนหนึ่งในชัยชนะครั้งนั้นด้วย

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

โรฮีนจา ... ข่าวนี้มีเรื่องเล่าเยอะ

โรฮีนจามาจากไหน? ใครพอทราบหรือเปล่า ... เชื่อว่านักเสพข่าวแบบดูแต่พาดหัวอย่างเดียวหลายคนคงฟันธงว่า พม่าชัวร์ 100%  ดังนั้นจึงไม่แปลกหรอกครับที่มันจะเกิดคำว่า "ประเทศต้นทาง - กลางทาง - ปลายทาง"  แต่ว่าประเด็นสำคัญของความซับซ้อนในปัญหานี้มันก็คือชาวโรฮีนจาไม่มีประเทศต้นทางอะดิ !!!  อ้าวแล้วมันอย่างไรเนี่ย ก็เห็นๆกันอยู่ว่านางอพยพหนีตายมาจากพม่านี่นา???
... ชาวโรฮีนจานั้นส่วนใหญ่เค้าอาศัยอยู่ที่รัฐยะไข่ ซึ่งอยู่ในเขตภาคตะวันตกของประเทศพม่า ซึ่งมีแนวเขตติดต่อกับประเทศบังคลาเทศ เค้าว่ากันว่าชาวโรฮีนจานั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มเดียวกับชาวเบงกาลี โดยมีแนวคิดหลักๆอยู่ 2 แนวทางด้วยกันคือ อย่างแรก - ชาวโรฮีนจานั้นเป็นชนเผ่าดังเดิมที่อาศัยในแถบนี้อยู่แล้ว กับอย่างที่สองก็คือ ชาวโรฮีนจาคือกลุ่มอพยพเข้ามาตั้งรกราก (อาจจะเรียกว่าถูกเกณฑ์เข้ามาก็ได้น่ะ) ในแถบรัฐยะไข่สมัยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ดังนั้นสิ่งที่แน่ๆนอนก็คือ โรฮีนจาไม่ใช่พม่า หรือ กลุ่มเกือบจะพม่า (มอญ กระเหรี่ยง คะฉิ่น ไทใหญ่ ยะขิ่น ฯลฯ) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดก็ตามก็หาสำคัญไม่ เพราะประเด็นสำคัญก็คือรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชาวโรฮีนจาว่าเป็นพลเมืองของพม่า ดังจะเห็นได้จากกฎหมายว่าด้วยการรับรองความเป็นพลเมืองของพม่า ในปี พ.ศ. 2525 สมัยนายพลเนวิน ไม่ได้ให้การรับรองความเป็นพลเมืองพม่ากับชาวโรฮีนจากว่า 800,000 คน ในรัฐยะไข่ ด้วยเหตุผลที่ว่า 

"ความเป็นพลเมือง ระบุไว้ว่า “สัญชาติ ดังต่อไปนี้ คะฉิ่น คะยา กะเหรี่ยง ชิน เบอร์มัน มอญ ยะไข่ หรือฉาน และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่อยู่ภายในรัฐเป็นการถาวรในช่วงเวลาก่อน ค.ศ. 1823 (ก่อนสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 1)  ให้ถือว่าเป็นพลเมืองของพม่า"   

...ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวชาวโรฮีนจาจึงถูกพม่ามองว่าเป็น "ผู้อพยพ" โดยปริยาย เพราะพม่าเชื่อว่าชาวโรฮีนจาคือชาวเบงกาลีที่อพยพเป็นแรงงานในยะไข่ช่วงหลังปี 1826 ภายหลังจากที่พม่าเสียดินแดนยะไข่ให้กับอังกฤษตามสนธิสัญญายันดาโบแล้ว ประกอบกับเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์ที่เป็นตัวสนับสนุนว่าชาวโรฮีนจาเป็น "คนอื่น" ในสายตาพม่า เช่น
  • ในปี 1885 ก่อนที่พม่าเสียเอกราชให้กับอังกฤษในสงครามครั้งที่ 3  พม่าเข้าโจมตียะไข่อย่างหนัก ประชากรในยะไข่ โดยเฉพาะชาวมุสลิมในยะไข่หนีตายเข้าไปในเขตปกครองของอังกฤษที่จิตตะกอง ทิ้งเมืองให้รกร้างว่างเปล่า ทำให้พม่าเชื่อว่าชาวมุสลิมในยะไข่นั้นไม่ได้เป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในยะไข่ เพราะหนีไปขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ แทนที่จะยอมสวามิภักดิ์ต่อพม่า (กรณีนี้ชาวพม่ารับรองเฉพาะชาวยะขิ่นที่เป็นชาติพันธุ์พม่าที่อาศัยอยู่ในยะไข่เท่านั้น) 
  • ช่วงการปกครองของอังกฤษ มีการส่งเสริมให้ชาวเบงกาลีอพยพเข้ามาในแถบยะไข่ ที่รกร้างว่างเปล่ามานานและเข้ามาเป็นแรงงานในฟาร์มของชาวอังกฤษที่เริ่มเข้ามาเป็นทำการเกษตรกรรมบริเวณนี้ โดยการที่อังกฤษยกเลิกเขตแดนระหว่างเบงกอลและยะไข่ ทำให้ชาวมุสลิมในเบงกอลอพยพเข้ามาในยะไข่กว่า 50,000 คน ซึ่งแน่นอนถ้ามองตามเหตุผลในข้อแรก กลุ่มชาวมุสลิมเหล่านี้ถือว่าเป็นไม่ใช่ชาวพม่า
  • ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มกองกำลัง V- Force ชาวโรฮีนจาที่ทางอังกฤษสนับสนุนอยู่กับกลุ่มชนพื้นเมืองชาวยะขิ่นที่คนพม่ามองว่าเป็นเชื้อสายพม่า ดังนั้นภาพของโรฮีนจาในสายตาพม่าจึงถูกมองว่าเป็น "คนอื่น" ได้เป็นอย่างดี
  • ในปี 1971 เกิดสงครามประกาศอิสรภาพในบังคลาเทศ ทำให้ชาวมุสลิมในบังคลาเทศได้หนีภัยสงครามทะลักเข้ามาในพม่าหลายแสนคนด้วยกัน ในจำนวนนี้แน่นอนครับว่าต้องมีผู้อพยพที่เป็นชาวโรฮีนจาในบังคลาเทศแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวโรฮีนจาในเขตรอยต่อระหว่างรัฐยะไข่กับบังคลาเทศเหล่านี้ก็เป็นบุคคลที่ไม่สามารถระบุสัญชาติได้อยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 1982 ตอนออกกฎหมายว่าด้วยการรับรองความเป็นพลเมือง รัฐบาลพม่าจะมองว่าชาวโรฮีนจาที่ยังอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่นั้นมีสถานะเป็นผู้อพยพ ไม่ใช่ชนพื้นเมืองของพม่า
.... แต่ก็มีคำถามสงสัยว่า "ถ้าชาวโรฮีนจาเป็นชนพื้นเมืองที่อยู่ในยะไข่มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว อย่างนี้จะทำยังไง??"  คำตอบนี้ก็ตอบว่า "กรูก็ไม่ให้สัญชาติพวกเมริงอยู่ดีเพราะอย่างไรเสียโรฮีนจาอย่างไงก็ไม่เหมือนพม่า ทั้งภาษา วัฒนธรรม ศาสนา แม้กระทั่งรูปร่างหน้าตา ดูอย่างไรก็แขกดีๆนี่แหละ"  
... จริงๆแล้วจากคำถามคำตอบนี้ก็ดูเป็นไปได้น่ะครับท่านผู้ชม เพราะในอดีตมีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวเบงกาลี-มุสลิม เข้ามาตั้งถิ่นฐานในยะไข่ตั้งแต่สมัยคริสตศตวรรษที่ 15 แล้ว คือ อาณาจักร "มรัค-อู" (Mrauk U) ซึ่งมีความรุ่งเรืองในช่วงรุ่นเดียวกับอาณาจักรตองอูของพม่า อันนี้ก็พอเชื่อได้ว่าอาจจะเป็นบรรพบุรษของชาวโรฮีนจาในปัจจุบันก็เป็นไปได้ แต่สุดท้ายไม่ว่าเรื่องนี้จะมีข้อเท็จจริงน่าเชื่อถือได้เพียงใด ในสายตาพม่าก็มอง "โรฮีนจาเป็นคนอื่นอยู่ดี" สรุปก็คือชาวโรฮีนจาจึงกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติมาจนทุกวันนี้ครับ และที่อยู่ที่พม่าในปัจจุบันก็อยู่แบบไร้อนาคต ก่อความรุนแรงบ้าง ถูกปราบปรามบ้าง กลายเป็นปัญหาที่พม่าไม่อยากได้ โรฮีนจาไม่อยากอยู่ แต่ไม่มีใครรับ ไม่มีใครส่ง จนมาทุกวันนี้
... ดดังนั้นการที่พม่าปฏิเสธความเป็นประเทศต้นทางของโรฮีนจา จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ครับ เพราะการยอมรับว่าตัวเองเป็นต้นทางก็เหมือนกับฆ่าตัวตายชัดๆ ปัญหาทั้งหมดก็จะถูกผลักให้เป็นภาระของพม่าอย่างเดียว  ดังนั้นเราก็ต้องเข้าใจว่าปัญหานี้มันซับซ้อนซ่อนเงื่อนเกินกว่าที่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำจะแก้กันเองได้น่ะครับท่านผู้ชม แล้วถ้าโรฮีนจาลอยเรือมาทำไมเราไม่รับเอาไว้เพื่อเห็นมนุษยธรรม ... นั่นน่ะสิทำไมเราไม่รับ ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับ การรับหรือไม่รับขึ้นอยู่กับผลที่ตามมาต่างหากว่าถ้ารับแล้วผลที่ตามมาเป็นยังไง ถ้าไม่รับผลจะเป็นอย่างไร ก็อย่างที่บอกไปปัญหาชาวโรฮีนจาค่อนข้างซับซ้อนกว่าที่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางจะสามารถจัดการกับปัญหากันเองได้ กล่าวคือเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันแก้ปัญหาโรฮีนจานั้นยังไม่มีมนุษย์ประเทศใดแสดงความจำนงที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะถ้าใครอาสาล่ะก็ พวกที่ร้องแรกแหกกระเชอก็จะรีบถีบๆภาระให้รับปัญหาไปทันที ดังนั้นถ้ายังไม่ตกลงกันดีๆ ไม่กำหนดเงื่อนไขกันให้ดี ปัญหาก็ยังคาราคาซังไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพหรอกครับพี่น้อง

... เอาง่ายๆยกตัวอย่างประเทศไทยแลนด์แดนลุงตู่ กรณีถ้าไทยรับผู้อพยพชาวโรฮีนจาเข้ามาจะเกิดอะไรขึ้น
  • ชาวโรฮีนจาที่เหลือไม่ว่าจะที่ลอยลำอยู่หรือที่ยังไม่มา ก็จะแห่กันมาที่บ้านเรา ก็เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็จะมีที่พักชั่วคราวก่อนจะหาทางไปประเทศที่ 3 อีกทั้งบ้านเรายังมีส่วนที่มีชาวมุสลิม เป็น Majority อยู่หลายพื้นที่ครับ เช่น จังหวัดสตูล หรือ อำเภอตามแนวชายแดนมาเลเซียของสงขลา (อ.รัตภูมิ, สะเดา, สะบ้าย้อย)  ซึ่งน่าจะทำให้ชาวโรฮีนจาเต็มใจมากขึ้นที่จะอพยพเข้ามาในประเทศไทย หรือบางคนอาจจะหาวิธีที่จะหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกึ่งถาวรก็เป็นได้ ปัญหาความมั่นคงก็จะตามมา ลองนึกดูว่าผู้อพยพจำนวนมากมาอยู่รวมกันย่อมยากต่อการจัดการ ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม หรือ อิทธิพลเถื่อนในพื้นที่จะตามมา ไทยก็จะถูกจับตามากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาการค้ามนุษย์จะเกิดขึ้นแน่นอนถ้าเราเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว เพราะกลุ่มเหล่านี้ย่อมแสวงหาผลประโยชน์จากชาวโรฮีนจาที่ต้องการหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยแน่นอน
  • แรงงานชาวโรฮีนจาจัดว่าเป็นแรงงานไร้ฝีมือ เพราะสถานภาพชาวโรฮีนจาในพม่าแทบไม่ต่างอะไรกับคนเร่ร่อน พวกเขาไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลพม่า ทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาความรู้ต่างๆ ประกอบกับชาวโรฮีนจาไม่ได้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีทักษะด้านการเพาะปลูก ว่ากันว่าชาวโรฮีนจาบางคนไม่รู้จักวิธีเพาะปลูก ขุดดินกันเลยทีเดียว ดังนั้นกลุ่มที่เห็นว่าแม้โรฮีนจาจะอพยพเข้ามาบ้านเราเยอะ ก็ควรจะใช้ประโยชน์ด้านแรงงานกับเขาเหมือนแรงงานต่างด้าวแถวมหาชัย ตลาดไท ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งบอกได้เลยว่าถ้าคิดอย่างนั้นคงต้องคิดใหม่เสียแล้วครับ
  • เชื่อว่ากดดันไทยเรื่องการจัดการสิทธิมนุษยชนแน่นอน UNHCR ต้องมาจุ้นจ้าน อเมริกาต้องมาชี้นิ้วนั่นโน่นนี่อย่างแน่นอน
ตอนนี้อาเซียนเริ่มตระหนักปัญหาเรื่องโรฮีนจากันแล้วครับ จนสุดท้ายกลายเป็นเรื่องที่ระดับนานาชาติเข้ามาช่วยเหลือ ดังนั้นตอนนี้มีเจ้าภาพร่วมแล้วครับ ทั้ง UN, ASEAN , มาเลเซีย, อินโดฯ, ฟิลิปปินส์, ไทยแลนด์, บังคลาเทศ อย่างนี้ก็เลยสบทางพม่าเลยครับ ออกตัวก้าวขาร่วมวงมาด้วยครับ ขอเป็นเจ้าภาพร่วมเพราะใจจริงพม่าก็อยากแก้ปัญหานี้เหมือนกันครับ แต่้เป็นเจ้าเดี่ยวนี่ก็คงลำบาก สุดท้ายปัญหาโรฮีนจาจะแก้ยังไง ก็ต้องติดตามกันต่อแล้วกันน่ะครับ

.