วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

จะทะเลาะกันไปทำไม?? "โขนไทย - โขนเขมร"

... พาดหัวข่าวเมื่อสองวันที่ผ่านมา เกี่ยวกับโลกโซเชี่ยลฝั่งกัมพูชาที่เริ่มมีการออกมาโพสต์ลงในสื่อ "โขน" ไม่ใช่ของไทย แต่เป็นของเขมรต่างหาก เอาล่ะทีนี้พี่ไทยพอเห็นข่าวเข้าก็ต่างรุมสกรัมพ่อเขมรหนุ่มหน้าตาบ้องแบ๊วทั้งหลายกันอย่างยกใหญ่ ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ งัดหลักฐานข้อมูลมาข่มกัน จนกลายเป็น talk of the town ขึ้นมาทันที
... แต่โดยประเด็นสำคัญที่ชาวกัมพูชาหลายคนที่ออกมากล่าวเช่นนี้ก้เพราะว่า พี่ไทยเรานี่เองล่ะครับที่จะเสนอโขนให้เป็น "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" ต่อยูเนสโก้กับเค้าบ้าง หลังจากที่ทางกัมพูชาได้ยื่น ละโคนพระกรุณา (Royal Ballet of Cambodia) ที่เป็นการแสดงที่หน้าตาเหมือนกับโขนไทยราวกับฝาแฝด ขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการยื่นทับไลน์กับจากไทย (ซึ่งมีข่าวมาเรื่อยๆเลยครับทั้งรำไทย หนังใหญ่ ฯลฯ) มีหรือที่กัมพูชาเค้าจะยอม จนเป็นที่มาของการโพสต์แสดงความเห็นและการตอบโต้กันตามประเด็นดังกล่าว
... จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาผมก็ลองเข้าไปอ่านตามโลกโซเชี่ยลเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ ทั้งหลายทั้งมวลครับก็ออกมาในแนวที่ว่าใครลอกใคร กูคิดก่อน มึงคิดทีหลัง .... เมามันกันมากเลยครับ แต่จะว่ากันไปแล้วหลายๆความเห็นที่น่าเชื่อถือและผมก็เห็นว่ามันน่าจะเป็นไปได้ที่สุดแล้วนั่นคือจะทะเลาะกันไปทำไมครับ เพราะอย่างไรสุดท้ายมันก็คือวัฒนธรรมร่วมกันของอุษาคเนย์นี่แหละครับ แค่ใครจะเอาไปดัดแปลงหรือพัฒนาให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างไรก็ตาม สุดท้ายก็มีรากมาจากอันเดียวกันนั่นแหละครับท่านผู้ชม

วัฒนธรรมร่วม - วัฒนธรรมลอกมาร่วมกัน
.. จะกล่าวถึงวัฒนธรรมร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันสักหน่อย อันที่จริงมีหลายอย่างมากเลยน่ะครับที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมจริงๆของกลุ่มคนที่อยู่เราได้ยินและรับทราบกันว่าแต่ละประเทศในปัจจุบันต่างแย่งกันเป็นเจ้าของ อย่างกรณีผ้าบาติกกับปาเต๊ะที่ตีกันมานานแล้วของอินโดและมาเลย์ สีย้อมกับขี้ผึ้งที่ใช้ก็เป็นวัสดุท้องถิ่นมีอยู่ในทั้งในเขตคาบสมุทรมาลายู สุมาตรา ชวา บอร์เนียว เหมือนๆกัน  หรืออย่างกรณีของตะกร้อกับเซปัค ชินลงกับตะกร้อลอดห่วง ที่ต่างคนต่างก็มีหวายมาสานเพื่อนำมาเตะเล่นเป็นเหมือนกันจนไม่รู้ว่าใครเริ่มก่อนใคร ใครลอกใคร ซึ่งจริงๆแล้วกรณีแบบนี้มันเป็นวัฒนธรรมร่วมครับ ที่มันมีมาก่อนที่จะเป็นรัฐชาติหรือก่อนที่จะมีฝรั่งหัวทองมีขีดเส้นแบ่งให้พวกเราเป็นคนนั้นเป็นคนนี้  เป็นวัฒนธรรมที่คนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เค้าสร้างสรรค์ร่วมกันมาตั้งนานมาแล้วครับ ประเด็นเหล่านี้จึงฟันธงยากครับว่าจะมาตัดสินว่าใครคิดใครทำมาก่อน 
... แต่ในหลายๆอย่างก็เป็นวัฒนธรรมต่างถิ่นที่แพร่เข้ามาจนพวกเราในหลายๆถิ่นรับเข้ามาพร้อมๆกันจนลืมนึกไปว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีชนชาติตนเองเป็นผู้ให้กำเนิด พอมีบางอย่างที่มีรายละเอียดแตกต่างกันนิดหน่อยอันเกิดจากเมื่อแต่ละคนรับเข้ามาแล้วก็มีการพัฒนาต่อให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ก็จะมีคนโวยวายตีโพยตีพายว่าแกลอกชั้นมาใช่มั๊ย จนลืมนึกไปว่าที่มันคล้ายกันก็เพราะว่ามันมาจากรากอันเดียวกันนั่นเอง เหมือนกรณีโขนละครที่เป็นข่าวล่ะครับ จริงๆแล้วถ้ามองในแง่ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ผมว่ามันก็เป็นอิทธิพลที่มาจากอินเดียนั่นแหละครับ เพราะลักษณะทางนาฏศิลป์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมดก็มีลักษณะที่คล้ายกับท่ารำของอินเดีย คือมีตั้งจีบ ตีวง แบะขา ยุบย่อเป็นพื้นฐานเหมือนๆกัน ไม่มีใครลอกใคร เหมือนประมาณว่าเรียนมาจากครูคนเดียวกัน แต่พอกลับบ้านไปดันลืมท่า พอจำได้แค่ลางๆก็เลยคิดท่ารำเองโดยเอาตัวอย่างพื้นฐานมาจากครูคนเดียวกันนั่นแหละครับ

เขมรเค้าว่ามี ทวารวดี ฟูนัน ศรีวิชัยเค้าก็มี แต่จะเถียงไปทำไมเพราะที่อินเดียเค้าก็มีจ้า




ไทยเขมรทำไมชอบตีกัน .

... จะว่ากันไปทำไมไทยเขมรจึงตีกันกันบ่อยนักเรื่องของชั้นของเธอ ทั้งทั้งๆถ้าเรามองภาพความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับลาวดูท่าว่าจะเหมือนกันมากกว่าซะอีก มีโอกาสตีกันได้มากกว่าอีก ประเด็นนี้เราต้องมองภาพวัฒนธรรมออกเป็น 2 ชั้นครับ คือวัฒนธรรมของชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง กับวัฒนธรรมชาวบ้าน พื้นบ้าน ซึ่งถ้าแยกออกมาเป็นอย่างนี้แล้วจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมของชนชั้นนำหรือวัฒนธรรมที่เป็นการรับรู้หลักของชนชาติที่เรียกว่าไทยในปัจจุบันนี้นั้น เหมือนกับเขมรเกือบทั้งหมดเลยครับ อันเป็นผลของการรับเอารูปแบบวัฒนธรรมของราชสำนักเขมรมาใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น - ตอนกลาง ดังนั้นแล้ววัฒนธรรมแกนหลักของไทยจึงมีรูปแบบเหมือนกับของเขมร (ที่รับเอามาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง) มาแบบไม่ผิดเพี้ยน จะแตกต่างกันตรงที่พัฒนาการของไทยนั้นมีความต่อเนื่องกันมายาวนาน อันเนื่องจากราชสำนักที่เป็นผู้อุปถัมภ์หลักนั้น ดำรงสืบต่อเนื่องมาไม่ขาดช่วงนั่นเอง ผิดกับเขมรครับที่มีช่วงที่ขาดหายไป ลุ่มๆดอนๆหลายช่วง จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ของไทยที่เขมรยกรูปแบบวัฒนธรรมของราชสำนักไทยไปฟื้นฟูราชสำนักของเขมรแบบไปทั้งกระบิเลยครับ ดังนั้นวัฒนธรรมที่เป็นการรับรู้หลักของประเทศไทยและกัมพูชาในปัจจุบันนั้นจึงเหมือนกัน
... แต่ในกรณีของลาวกับไทย สิ่งที่เหมือนกันนั้นเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวบ้านครับ เค้าไม่ตีกันหรอก ระดับวัฒนธรรมพื้นบ้านมันไม่ได้แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นรัฐชาติที่ศูนย์กลางไงล่ะครับ ดังนั้นพอไทย-ลาว มีวัฒนธรรมชาวบ้านร่วมกันก็เป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นถ้าลาวมองตนเองอย่างเป็นมุมมองรัฐชาติน่ะครับเค้าก็จะมองว่าวัฒนธรรมหลักของเค้าคนอีสานบ้านเราเอาวัฒนธรรมเค้าไปใช้ แต่พี่ไทยที่ศูนย์กลางกลับไม่โวยวายอะไรเพราะวัฒนธรรมพื้นบ้านแถบอีสาน หรือวัฒนธรรมคนล้านนาภาคเหนือที่ไปคล้ายกับลาวหลวงพระบาง เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านเท่านั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมที่แสดงเอกลักษณ์ของชาติที่ชั้นกำหนดเอาไว้ยังไงล่ะครับ
... ดังนั้นคำว่าเอกลักษณ์ของชาติที่เป็นวัฒนธรรมหลักของแต่ละประเทศดันมาเหมือนกัน ก็เลยกลายมาเป็นประเด็นให้ตีกันอยู่ร่ำไป ไหนจะเป้นเรื่องเชิงความรู้สึกของคนเขมรกับคนไทยที่ประวัติศาสตร์แบบรัฐชาติสอนให้คนเขมรกับคนไทยเกลียดกันอีก เช่น ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอมและวัฒนธรรมของขอมโบราณที่กระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน แต่ความภาคภูมิใจเหล่านี้กลับถูกย่ำยีโดยพวกเสียมโครตเหง้าศักราชของพวกไทยปัจจุบัน ในขณะที่ภาพลักษณ์ของอาณาจักรกัมพูชาในวิชาประวัติศาสตร์ไทยสอนว่าพระยาละแวกเป็นคนโกงฉวยโอกาส หรือกัมพูชาชอบตีตนออกห่างจากสยามไปสวามิภักดิ์กับชาติอื่นทั้งๆที่ตนเองมีฐานะเป็นประเทศราชของสยาม หรือ กรณีแย่งชิงดินแดนเขาพระวิหาร การเผาสถานฑูตไทย ฯลฯ เหล่านี้จึงกลายเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนง่ายต่อการกระตุ้นความรู้สึกเกลียดชังกันได้เป็นอย่างดี
... เพราะฉะนั้นเมื่อมีความขัดแย้งแบบนี้ขึ้นมาเมื่อไหร่มันจะจุดง่ายครับ แล้วเราทั้งสองฝ่ายก็พร้อมลงสนามเล่นกันด้วยน่ะครับ ทั้งๆที่เรื่องความงดงามทางวัฒนธรรมเหล่านี้พวกเราควรจะยินดีร่วมกันไม่ใช่เหรอ ใครจะยื่นอะไรก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์กัน โขนไทย กับ ละโคนพระกรุณา ก็ไม่ได้เป็นการแสดงประเภทเดียวกันสักหน่อย แม้จะเหมือนกันอย่างฝาแฝดก็ตาม โขนไทยก็ยังเป็นโขนไทย รำแบบไทย ร้องแบบไทย หน้าพาทย์แบบไทย ในขณะละโคนพระกรุณาก็ร้องภาษาเขมร รำแบบเขมร ไม่รู้จะต้องเถียงกันเอาชนะเอาโล่ห์ชิงรางวัลกันไปเพื่ออะไร หรือถ้ามีเถียงแล้วชนะไปข้างนึงต่อไปห้ามใช้ชื่อว่าโขนน่ะ ให้ใช้ว่าละโคนพระกรุณาฉบับบทพากษ์ภาษาไทยหรือครับ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่เถียงกัน มันเป็นของพวกเราทุกคนต่างหาก พวกเราคำนี้มีความหมายใหญ่น่ะครับ ตอนนี้รวมร่างเข้าสู่ AEC แล้ว แม้จริงๆอาจจะไม่มีจุดประสงค์เพื่อให้สลายพรมแดนรัฐชาติก็ตาม แต่ว่าถ้าสักวันพวกเรากลายเป็นสิ่งที่อยู่ในความรับรู้ของทุกคนในเขต AEC ล่ะครับ นึกเองแล้วกัน พวกเราที่มีประชากรกว่า 400 ล้านคน พวกเราที่มีทรัพยากรมหาศาล พวกเราที่อยู่ในเขตที่สามารถเพาะปลูกเลี้ยงดูคนสัตว์ได้ตลอดทั้งปี จะไปไกลกันขนาดไหน คิดเอาแล้วกันครับ